ข่าหด

ข่าหด

ชื่อสมุนไพร : ข่าหด
ชื่ออื่นๆ :
ค่าหด, เก็ดลิ้น, ลบลีบ, ผาหด
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Engelhardtia spicata Blume.
ชื่อวงศ์ : JUGLANDACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นข่าหด เป็นไม้ต้นผลัดใบ ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงได้ถึง 25 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลม กิ่งอ่อนมีรอยแผลใบเห็นได้ชัด ลำต้นมักคดงอ เปลือกหนาสีเทา แตกเป็นร่องลึก
  • ใบข่าหด ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ มีใบย่อยประมาณ 1-6 คู่ ลักษณะของใบเป็นรูปรียาว รูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมใบหอก ปลายใบแหลมเรียว โคนใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-15 เซนติเมตร ใบอ่อนมีขนสาก ส่วนใบแก่ผิวเรียบ และจะทิ้งใบหมดก่อนออกดอก
  • ดอกข่าหด ออกดอกเป็นช่อบริเวณซอกใบ ลักษณะห้อยลง ดอกย่อยมีจำนวนมาก ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน ไม่มีกลีบดอก ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียจะอยู่กันคนละช่อ ดอกเพศผู้จะรวมกันเป็นช่อสั้นแบบหางกระรอก ส่วนดอกเพศเมียจะอยู่รวมกันเป็นช่อห้อยลงมา แต่ละดอกจะมีกาบบาง ๆ เป็นรูปแฉกสามเหลี่ยมสีเหลืองอ่อนรองรับ และกาบนี้จะเจริญต่อไปเป็นผล
  • ผลข่าหด กลมแข็ง โตไม่เกิน 1 เซนติเมตร มีขนแข็งคลุมแน่น มีแฉกกาบเป็นรูปสามง่ามติดอยู่ ง่ามกลางจะยาวที่สุดประมาณ 4 เซนติเมตร

ส่วนที่ใช้เป็นยา : เปลือกลำต้น, เนื้อไม้

สรรพคุณ ข่าหด :

  • เปลือกลำต้น ยารักษาอาการปวดฟัน ช่วยให้มดลูกหดตัวเร็ว ยารักษาตุ่มคันในเด็ก ยาสมานแผลอักเสบ
  • เนื้อไม้ รสร้อนเมา ขับเลือดลม บำรุงกำลัง

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : 

  1. เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ,นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ. 2549. สมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. พิมพ์ครั้งที่ 2. บริษัทสามเจริญพาณิชย์(กรุงเทพฯ)จำกัด:กรุงเทพมหานคร.
  2. เต็ม สมิตินันทน์. (2557). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช:กรุงเทพมหานคร.
  3. วุฒิ วุฒิธรรมเวช. (2540). สารานุกรมสมุนไพร. โอเดียนสโตร์ : กรุงเทพมหานคร.
Scroll to top