ขี้เหล็กเทศ

ขี้เหล็กเทศ

ชื่อสมุนไพร : ขี้เหล็กเทศ
ชื่ออื่น ๆ 
: ขี้เหล็กผี, พรมดาน, ชุมเห็ดเล็ก(ภาคกลาง), ขี้เหล็กเผือก, หมากกะลิงเทศ, ลับมืนน้อย, ผักเห็ด (ภาคเหนือ), กิมเต่าจี้, ม่อกังน้ำ (จีน), ผักจี๊ด (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน)
ชื่อสามัญ : Coffee Senna
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cassia occidentalis Linn.
ชื่อวงศ์ : CAESALPINIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นขี้เหล็กเทศ  จัดเป็นไม้พุ่ม (shrub) เนื้อแข็งอายุหลายปี ต้นสูง 1-2 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก ลำต้นมีสีเขียวอมม่วง ไม่มีขน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางลำต้น 10-12 เซนติเมตร
  • ใบขี้เหล็กเทศ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ ออกแบบเรียงสลับ โดยใน 1 ช่อใบ จะมีแกนกลางใบยาวประมาณ 8-12 เซนติเมตร และส่วนก้านใบประกอบยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร มีใบย่อย 3-5 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่แกมใบหอก ไม่สมมาตรกัน มีขนาดกว้าง 2-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-10เซนติเมตร โคนใบกลม ปลายใบแหลมยาว ส่วนขอบใบมีขนครุย และมีสีม่วงแดง แผ่นใบเกลี้ยงบาง ผิวใบมีสีเขียวเข้มไม่มีขน ด้านหลังใบเห็นเส้นกลางใบสีม่วงแดงนูนขึ้นชัดเจน ก้านใบด้านหน้ามีสีม่วงแดง ส่วนด้านหลังเป็นสีเขียว หรือ อาจมีสีม่วงแดงประปราย ที่โคนก้านใบด้านในมีต่อมสีแดงเข้ม ก้านใบย่อยยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร มีหูใบเป็นขนแข็ง และยาวได้ประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร
  • ดอกขี้เหล็กเทศ ดอกออกเป็นช่อกระจายแบบแยกแขนง (panicle) ปลายยอด และตาข้าง ช่อดอกมีความยาว 5.26-12.62 เซนติเมตร ตรงโคนช่อดอกย่อยมีต่อมสีแดงเข้ม โดยใน 1 ช่อดอก จะมีดอกย่อย 12-22 ดอกต่อช่อ ลักษณะกลีบดอก (petal) รูปไข่มี 5 กลีบ ขนาด 5-6 มิลลิเมตร สีเหลือง ซึ่งกลีบบนค่อนข้างใหญ่กว่ากลีบล่างอีก 2 คู่ และมีอับเรณู (anther) เป็นสีน้ำตาลอ่อน
  • ฝักขี้เหล็กเทศ ผลเป็นฝักมีลักษณะเป็นรูปแถบ แบน เกลี้ยง มีขนาดกว้าง 0.7-0.8 เซนติเมตร และยาวได้ 10-12 เซนติเมตร มีรอยแบ่งระหว่างข้อไม่ชัดเจน แต่มีรอยขอบฝักชัดเจน สีฝักอ่อนเป็นสีเขียว ส่วนฝักแก่เป็นน้ำตาล และไม่แตกเอง ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาลประมาณ 30-40 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลม แบน ปลายข้างหนึ่งจะค่อนข้างแหลม ซึ่งเมล็ดจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-4 มิลลิเมตร

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ทั้งต้น, ใบ, ดอก, เมล็ด

สรรพคุณ ขี้เหล็กเทศ :

  • ทั้งต้นและใบ ใช้แห้งประมาณ 6-10 กรัม ส่วนใบสดเพิ่มอีกประมาณ 1 เท่าตัว ใช้ต้มกินหรือคั้นเอาน้ำกิน ถ้าใช้ภายนอก ควรตำก่อนแล้วใช้พอก กินจะมีรสขม ใช้ขับของเสียออกจากไต ใช้กล่อมตับ รักษาอาการบวม ถอนพิษ รักษาอาการไอ หอบ ท้องผูก หนองใน ปวดหัว ปัสสาวะเป็นโลหิต แผลบวมอักเสบ ตาแดง แมลงสัตว์กัดต่อย หรือถูงูกัด
  • ฝักและเมล็ด ใช้แงประมาณ 6-10 กรัม ใช้ต้มน้ำกินมีรสชุ่ม ขม แต่มีพิษ บำรุงกระเพาะอาหารใช้กล่อมตับ ทำให้การขับถ่ายดี และทำให้ตาสว่าง ใช้รักษาระบบการย่อยอาหารไม่ดี โรคบิด ปวดท้อง ท้องผูก ปวดหัวและถอนพิษ ปวดกระเพาะอาหาร วิงเวียน ตาบวมแดง ถ้าใช้ภายนอกควรบดให้ละเอียดเป็นผง แล้วใช้ทาได้

ข้อมูลเพิ่มเติม :

หมายเหตุ : ทั้งต้นและใบควรใช้แห้ง หรือจะใช้สดก็ได้ ส่วนฝักและเมล็ดนั้น ควรเก็บเมื่อฝักแก่จัดเป็นสีน้ำตาล ตากแห้ง แล้วเด็ดก้านฝักออกแล้วหั่นเป็นท่อนเล็ก ๆ หรือใช้เกาะเปลือกเอาแต่เมล็ด เก็บตากแห้งไว้ได้

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • โรคหนองใน ปัสสาวะเป็นเลือด โดยใช้ทั้งต้นสด 30 กรัม ต้มน้ำดื่ม
  • ลดความดันเลือดสูง โดยใช้เมล็ดคั่วให้เกรียมมีกลิ่นหอม บดเป็นผง ใช้ครั้งละ 3 กรัม ผสมน้ำตาลกรวดพอประมาณ ชงน้ำดื่มเป็นประจำ
  • แก้โรคกระเพาะอาหาร และลำไส้อักเสบเรื้อรัง ท้องผูกเป็นประจำ ระบบย่อยอาหารไม่ดี โดยใช้เมล็ดที่คั่วจนเหลือง 15-30 กรัม บดเป็นผงกินติดต่อกันประมาณ 10 วัน
  • แก้ไข้มาลาเรีย โดยใช้เมล็ดที่คั่วให้เกรียมมีกลิ่นหอมบดเป็นผง กินครั้งละ 6-10 กรัม วันละ 2 ครั้ง
  • ตาแดงบวม เห็นพร่ามัว โดยใช้เมล็ดแห้ง 15-30 กรัม ผสมน้ำตาลกรวด 30 กรัม ชงน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ฝีบวมอักเสบ โดยใช้ใบตากแห้งบดเป็นผง ผสมน้ำส้มสายชูพอก หรือ อาจผสมเหล้าพอกเพื่อเร่งให้หัวฝีออกเร็วขึ้น
  • แมลงสัตว์กัดต่อย โดยใช้ใบสดตำพอก
  • ใช้บำรุงร่างกาย แก้เบาหวาน แก้มาลาเรีย แก้อาหารเป็นพิษโดยใช้ราก หรือ ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้รักษารำมะนาด โดยใช้รากขี้เหล็กเทศนำมาผสมกับข้าวสารเจ้า หรือ ข้าวเย็น ข้าวสารเหนียว ต้นกระไดลิง ต้นมะกอกเผือก รากเกล็ดลิ่น รากกรามช้าง รากงิ้ว รากแตงเถื่อน รากถั่วพู รากปอขาว และรากฟักข้าว ใช้ฝนกับน้ำซาวข้าวดื่ม
  • ใช้แก้ปวดศีรษะ โดยใช้ฝัก และเมล็ด หรือ ทั้งต้น และใบนำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ ใช้ใบสดประมาณ 20 กรัม และเนื้อหมูอีก 250 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้อาหารไม่ย่อย อาหารเป็นพิษโดยใช้ราก หรือ ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้ขับของเสียออกจากไต ใช้กล่อมตับ โดยใช้ฝัก และเมล็ดนำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ ใช้ต้นและใบแห้งประมาณ 6-10 กรัม
  • ใช้แก้ปัสสาวะเป็นเลือด โดยใช้ทั้งต้น และใบแห้งประมาณ 6-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ จะใช้ยาชงจากเปลือกต้น หรือ รากก็ได้
  • ใช้ขับปัสสาวะ โดยใช้ราก หรือ ต้นใช้ต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้รักษาอาการอักเสบภายนอก ด้วยการใช้ทั้งต้น และใบสดประมาณ 30-60 กรัม นำมาตำพอกบริเวณที่เป็น หรือ จะใช้เมล็ดประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่มก็ได้เช่นกัน

 ขี้เหล็กเทศ เป็นพืชที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายประเภทเช่นเดียวกันกับขี้เหล็ก (Cassia siamea Lam.) ที่เรารู้จักกันดี โดยขี้เหล็กเทศถูกนำมาใช้ประโยชน์ เช่น ยอดอ่อน และใบอ่อนสามารถนำมานึ่งให้สุกรับประทานเช่นเดียวกันกับยอดอ่อนขี้เหล็กบ้านโดยนิยมนำมารับประทานกับแจ่ว หรือ นำไปปรุงอาหาร เช่น แกงยอดขี้เหล็ก และแกงเลียง แกงเผ็ด ผัด เป็นต้น ส่วนเมล็ดสามารถนำมาคั่วแล้วบดใช้ชงดื่มแทนกาแฟ, ชา หรือ ใช้ผสมกับกาแฟ (สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการคาเฟอีน มาก) นอกจากนี้ต้น และใบยังสามารถใช้เป็นแหล่งอาหารสัตว์ เช่น โค กระบือ แกะ หรือ อาจนำต้นสดทั้งต้น ทำปุ๋ยพืชสด โดยมีรายงานว่าจะให้ปริมาณโพแทสเซียม มาก

ถิ่นกำเนิดขี้เหล็กเทศ

 ขี้เหล็กเทศ เป็นพันธุ์พืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนของทวีปอเมริกาใต้ ต่อมาจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนอื่นๆ ของโลก ในปัจจุบันสามารถพบได้ทั่วไปในเขตร้อนชื้นต่างๆ สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทุกภาคของประเทศ บริเวณที่รกร้าง หรือ ที่แห้งแล้งตามไหล่เขา ริมน้ำลำคลอง และพื้นที่โล่งทั่วไป ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลจนจนถึงระดับความสูงประมาณ 1,000 เมตร โดยมักขึ้นทั่วไปในพื้นที่โล่ง

Scroll to top