กัญชา

กัญชา

ชื่อสมุนไพร :          กัญชา
ชื่ออื่น ๆ 
:               ปาง (ไทยใหญ่ – แม่ฮ่องสอน) , ยานอ (กะเหรี่ยง – แม่ฮ่องสอน), คุนเช้า (จีน) , ต้าหม่า (จีนกลาง)
ชื่อสามัญ :             Cannabis, Marihuanam Indian Hemp, pot
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cannabis indica Lam.
ชื่อวงศ์ :                CANNABACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นกัญชา เป็นพืชล้มลุกมีอายุได้แค่เพียงปีเดียว ส่วนของรากเป็นระบบรากแก้ว (Tap root system) มีรากแขนงจำนวนมาก ส่วนของลำต้นพบว่าลำต้นตั้งตรง สีเขียว สูงประมาณ 1-3 เมตร มีลักษณะอวบน้ำเมื่อเป็นต้นกล้า เริ่มมีการสร้างเนื้อไม้เมื่อเจริญได้ 2-3 สัปดาห์ การเจริญเติบโตของต้นจะช้าในช่วง 6 สัปดาห์แรก หลังจากนั้นจะเพิ่มความสูงอย่างรวดเร็ว จนมีความสูงเฉลี่ยคงที่ คือ ประมาณ 200 เซนติเมตร เนื่องจากมีการออกดอก เปลือกของลำต้นสามารถลอกออกเพื่อใช้ประโยชน์จากเส้นใย โดยเปลือกนอก (primary bast fibers) ให้เส้นใยที่ยาว เหนียว แต่ค่อนข้างหยาบ ส่วนเปลือกในที่ติดกับเนื้อไม้ (secondary bast fibers) ให้เส้นใยที่ละเอียดกว่าแต่สั้นกว่า


  • ใบกัญชา เป็นใบเดี่ยว รูปฝ่ามือ ออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบแตกออกเป็นแฉก ๆ ประมาณ 5-8 แฉก แต่ละแฉกเป็นรูปยาวรี ปลายและโคนสอบ ส่วนขอบใบทุกแฉกเป็นหยักแบบฟันเลื่อย มีขนาดกว้างประมาณ 0.3-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร ลักษณะของใบโดยรวมจะคล้าย ๆ กับใบละหุ่ง ใบฝิ่นต้น และใบมันสำปะหลัง ผิวใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนด้านล่างท้องใบมีสีเทาอ่อนเล็กน้อย มีขนต่อมกระจายทั่วผิวใบด้านบน ส่วนด้านล่างมีขนอ่อนนาบไปกับแผ่นใบ ก้านใบยาวประมาณ 4-15 เซนติเมตร ในก้านหนึ่งจะมีใบเดี่ยว 3-11 ใบ มีกลิ่นเหม็นเขียว


  • ดอกกัญชา ส่วนของดอก มี 2 ชนิด คือ ชนิดที่มี “ดอกเพศผู้” และ “ดอกเพศเมีย” อยู่ในต้นเดียวกัน (monoecious) และชนิดดอกเพศผู้และเพศเมียแยกกันอยู่คนละต้น (dioecious) ในประเทศไทยพบว่าพืชกัญชามีดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่ต่างต้นกัน ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายยอด โดยปกติพืชกัญชาจะมีการติดดอกและเมล็ดในช่วง 90-120 วัน
    ดอกเพศผู้ : ช่อดอกเพศผู้เป็นแบบ panicle ประกอบไปด้วยกลีบเลี้ยง 5 กลีบ แยกกันเป็นอิสระมีสีเขียวอมเหลือง พบเกสรเพศผู้ 5 อัน ระยะเวลาการบานประมาณ 2 เดือน
    ดอกเพศเมีย : เกิดตามซอกใบและปลายยอด ในบริเวณช่อดอกจะอัดตัวกันแน่น ช่อดอกเป็นแบบ spike ประกอบด้วยกลีบเลี้ยงสีเขียวเข้มห่อหุ้มรังไข่ไว้ ภายในมี stigma 2 อัน สีน้ำตาลแดง อายุของดอกค่อนข้างสั้นประมาณ 3-4 สัปดาห์ก็จะติดผล


  • ผลกัญชา ผลเป็น achene ในผลนั้นจะมีเมล็ดกลมเล็ก ๆ มีขนาดเท่ากับลูกผักชี เป็นแบบผลแห้งเมล็ดล่อน ขนาดเล็ก เกลี้ยง สีนํ้าตาล ส่วนของเมล็ดเป็นเมล็ดเดี่ยว รูปไข่ป้อมผิวเรียบเป็นมันมีลายประดับสีน้ำตาล เมื่อแห้งมีสีเทา ขนาดประมาณ 3-4 มม. มีน้ำหนักเฉลี่ย 8-24 กรัมต่อเมล็ด 1,000 เมล็ด เมล็ดจะออกประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ หลังออกดอก

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ, ดอก, เมล็ด

สรรพคุณ กัญชา :

  • ใบ ใช้รักษาโรคหอบ หืด วิธีนำมาใช้โดยการนำเอาใบสดมาหั่นให้เป็นฝอย แล้วนำเอาไปตากแห้ง จากนั้นก็นำมาสูบใช้เป็นยารักษาโรค
  • ยอดอ่อน เมื่อนำมาสกัดด้วยแอลกอฮอล์ ซึ่งจะได้สารชนิดเรียกว่า ทิงเจอร์แคนเนบิสอินดิคา เป็นยาน้ำมีสีเขียวเมื่อกินเข้าไป ประมาณ 5-15 หยด ก็จะช่วยรักษาโรคที่เกี่ยวกับระบบประสาท เป็นยาสงบเส้นประสาท ทำให้นอนหลับ เคลิ้มฝัน เป็นยาแก้อักเสบ (antiinflammation)เป็นยาระงับปวด (analgesic) แก้โรคสมองพิการ แก้โรคบิด แก้ปวดท้อง และแก้โรคท้องร่วง เป็นต้น
  • เส้นใยของลำต้น ใช้ในการทอผ้า ซึ่งจะได้ผ้าที่มีคุณภาพดี เหนียว คงทนมาก
  • ดอก ใช้เป็นยารักษาแก้โรคประสาท เช่น คิดมาก นอนไม่หลับ ใช้กับผู้ป่วยที่เบื่ออาหารโดยใช้ปรุงอาหารให้กิน ช่วยกัดเสมหะในคอ โดยใช้ดอกของมันผสมกับยาฉุนพญามือเหล็ก หั่น แล้วใช้สูบ
  • เมล็ด น้ำมันที่ได้จากการเมล็ดเป็นน้ำมันไม่ระเหย (fixedoil) ซึ่งจะนำมาใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น ใช้ทำสบู่ สีทาบ้าน เป็นต้น นอกจากนี้เศษ หรือการที่ได้จากการสกัดเอาน้ำมันออกแล้ว ยังใช้เป็นอาหารของโค กระบือ ได้

ข้อมูลเพิ่มเติม :

การใช้ยาตามตำรับยาการแพทย์แผนไทย

          สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้เผยแพร่ข้อมูลตำรับยาในทางการแพทย์แผนไทย 16 ตำรับ ตัวอย่างเช่น

  1. ตำรับยาศุขไสยาสน์ มีที่มาจากคัมภีร์ธาตุพระนารายณ์ ทั้งนี้พระนารายณ์มหาราชเป็นกษัตริย์ลำดับที่ 27 ในสมัยกรุงศรีอยุธยา
    ข้อบ่งใช้ ช่วยให้นอนหลับ เจริญอาหาร ฟื้นฟูกำลังผู้ป่วยเรื้อรัง
    ข้อห้ามใช้ ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์ ผู้ที่ไข้สูง
  2.  ยาน้ำมันสนั่นไตรภพ มีที่มาจากตำรายาจารึกในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
    ข้อบ่งใช้ แก้กษัยเหล็ก ลดอาการแทรกซ้อนในผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ มะเร็งมดลูก มะเร็งตับในระยะเริ่มต้น
    ข้อห้ามใช้ ห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคตับระยะสุดท้ายที่มีภาวะเส้นเลือดแตกเป็นใยแมงมุม ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีตับวาย ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่ใช้ยาละลายลิ่มเลือด

          และยังมียาตามตำรับการแพทย์แผนไทยอีก 14 ตำรับที่กรมแพทย์แผนไทยได้รับรองตามตำรับเดิมของคัมภีร์แพทย์แผนไทยโบราณของขุนโสภิตบรรณลักษณ์ ตำรายาจารึกในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์พระยาพิศณุประสาทเวช ร.ศ. 128 ตำรับยาอายุรเวทศึกษา (ขุนนิทเทสสุขกิจ ตำรับยาเวชศาสตร์วัณ์ณณา ตำรับยาคัมภีร์ธาตุพระนารายณ์) 

ตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ ในขณะนี้ตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ในตำราการแพทย์แผนไทย โดยคำแนะนำของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกและสภาการแพทย์แผนไทย มีทั้งหมด 16 ตำรับ โดยให้เสพเพื่อการรักษาโรค หรือการศึกษาวิจัย เพื่อให้เป็นตามหลักวิชาการ มีคุณภาพมาตรฐานที่กำหนดและนำไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ของประเทศ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2562 ประกอบไปด้วย

  1. ยาอัคคินีวคณะ มาจาก คัมภีร์ธาตุพระนารายน์
  2. ยาศุขไสยาศน์ มาจาก คัมภีร์ธาตุพระนารายน์
  3. ยาแก้ลมเนาวนารีวาโย มาจาก ตำรายาศิลาจารึกในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
  4. ยาน้ำมันสนั่นไตรภพ มาจาก ตำรายาศิลาจารึกในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
  5. ยาแก้ลมขึ้นเบื้องสูง มาจาก ตำรายาศิลาจารึกในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
  6. ยาไฟอาวุธ มาจาก แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม 1 พระยาพิศณุประสาทเวช
  7. ยาแก้นอนไม่หลับ/ยาแก้ไข้ผอมเหลือง มาจาก แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม 1 พระยาพิศณุประสาทเวช
  8. ยาแก้สัณฑฆาต กล่อนแห้ง มาจาก แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม 2 พระยาพิศณุประสาทเวช
  9. ยาอัมฤตโอสถ มาจาก แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม 2 พระยาพิศณุประสาทเวช
  10. ยาอไภยสาลี มาจาก เวชศึกษา พระยาพิศณุประสาทเวช
  11. ยาแก้ลมแก้เส้น มาจาก เวชศาสตร์วัณ์ณณา
  12. ยาแก้โรคจิต มาจาก อายุรเวทศึกษา (ขุนนิทเทสสุขกิจ) เล่ม 2
  13. ยาไพสาลี มาจาก อายุรเวทศึกษา (ขุนนิทเทสสุขกิจ) เล่ม 2
  14. ยาทาริดสีดวงทวารหนักและโรคผิวหนัง มาจาก อายุรเวทศึกษา (ขุนนิทเทสสุขกิจ) เล่ม 2
  15. ยาทำลายพระสุเมรุ มาจาก คัมภีร์แพทย์ไทยแผนโบราณ เล่ม 2 ขุนโสภิตบรรณลักษณ์
  16. ยาทิพยาธิคุณ มาจาก คัมภีร์แพทย์ไทยแผนโบราณ เล่ม 2 ขุนโสภิตบรรณลักษณ์

    โดยในแต่ละตำรับยาจะมีสรรพคุณและวิธีการใช้ที่แตกต่างกันไป ซึ่งในขณะนี้ยังจัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 ก่อนใช้ต้องปรึกษาและได้รับการจ่ายยาจากแพทย์แผนไทยที่ผ่านการอบรมมาแล้วเท่านั้น

ศาสตร์การแพทย์แผนจีน : เมล็ดกัญชา เพิ่มความชุ่มชื้นให้ลําไส้ บําบัดอาการท้องผูกแบบอุจจาระแข็ง เหตุนํ้าในร่างกายน้อยหรือเลือดพร่อง มักใช้ในผู้สูงอาย

แพทย์ชาวโปรตุเกสได้บันทึกฤทธิของกัญชาในอินเดียว่า : ทําให้เคลิ้มสุข ทําให้สงบ กระตุ้นการย่อยอาหาร ทําให้ประสาทหลอน กระตุ้นกําหนัด

หมายเหตุ : กัญชา ปัจจุบันนี้ในทางเภสัช ถือว่าเป็นยาเสพติดให้โทษเพราะฤทธิ์ของมันทำให้ผู้ที่สูบ หรือเสพเข้าไปแล้วจะทำให้ติด ทำให้เพ้อฝัน ความจำเลอะเลือน ตัวสั่น และทำให้เป็นคนเสียสติเป็นคนวิกลจริตพิการได้อีกด้วย ฉะนั้นเมื่อมีการใช้ ในขนาด และปริมาณที่พอควร

ใครสามารถปลูกกัญชา และปรุงยาจากกัญชาได้บ้าง?

แม้ประเทศไทยจะปลดล็อกกัญชาแล้ว แต่ในปัจจุบันก็เปิดให้ยื่นขออนุญาตปลูกกัญชาได้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการศึกษาวิจัยเท่านั้น ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ระบุว่า ผู้ที่สามารถปลูกกัญชาได้ มีดังนี้

  • หน่ายงานของรัฐ
  • สถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่มีการสอน วิจัย ทางการแพทย์หรือเภสัชศาสตร์
  • ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น สหกรณ์การเกษตร, วิสาหกิจชุมชน, วิสาหกิจสังคม ที่อยู่ภายใต้หน่วยงานของรัฐ หรือสถาบันอุดมศึกษา
  • ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม (เภสัชกรรม ทันตกรรม การแพทย์แผนไทย หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมาย) 

การขออนุญาตปลูกกัญชา

สำหรับผู้ที่ต้องการจะขออนุญาตเพื่อปลูกกัญชาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จะต้องประกอบไปด้วย 3 ข้อ ได้แก่

  1.  มีคุณสมบัติเป็นผู้ที่สามารถปลูกกัญชาได้ถูกต้องตามกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 หรือมีสถานะเป็นวิสาหกิจชุมชน และไปร่วมกับหน่วยงานของรัฐ
  2. มีแผนโครงการ แผนกระบวนการผลิต และรายละเอียดการใช้ประโยชน์อย่างชัดเจน 
  3. มีสถานที่ปลูกกัญชา ที่มีเอกสารสิทธิครอบครองที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ผู้ที่สามารถปรุงยากัญชาได้

     สำหรับผู้ที่จะนำกัญชาไปปรุงยาได้นั้น จะต้องเป็นผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทย และหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย หรือผ่านการอบรมหลักสูตรการใช้ตำรับยาที่มีกัญชาผสม จากหลักสูตรที่กระทรวงสาธารณสุข

ส่วนการจำหน่าย หรือสั่งจ่ายยา ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้สถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชนก็ได้ แต่ต้องเป็นตำรับยาที่ได้รับการยอมรับแล้วเท่านั้น

 

สายพันธุ์กัญชาที่นิยมปลูก

ต้นกัญชาที่นิยมปลูกกันทั้งในไทยและต่างประเทศ จะแบ่งออกเป็น 3 สายพันธุ์ใหญ่ ๆ ดังนี้

1. สายพันธุ์ซาติวา (Cannabis Sativa)

มีแหล่งกำเนิดจากหลายประเทศ ได้แก่ เม็กซิโก โคลัมเบีย ตอนกลางของทวีปแอฟริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชอบอากาศร้อน ลำต้นหนา ความสูงประมาณ 6 เมตร ใบยาวเรียว สีเขียวอ่อน ใช้เวลาในการเติบโตประมาณ 9-16 สัปดาห์ถึงจะเก็บเกี่ยวได้ และให้สาร THC ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทสูงกว่าอินดิกา

2. สายพันธุ์อินดิกา (Cannabis Indica)

เป็นสายพันธุ์กัญชาที่มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย และตะวันออกกลาง ชอบที่ร่มและอากาศเย็น มีลำต้นเป็นพุ่มเตี้ย ความสูงประมาณ 1-2 เมตร กิ่งก้านดกหนา หน้าใบกว้างและสั้นกว่าสายยพันธุ์ซาติวา มีสาร CBD ที่ช่วยออกฤทธิ์ระงับประสาท ทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ลดอาการปวด จึงนิยมนำไปใช้ทางการแพทย์ โดยสายพันธุ์นี้จะเติบโตพร้อมเก็บเกี่ยวได้เร็ววกว่าซาติวา ใช้เวลาประมาณ 6-8 สัปดาห์

3. สายพันธุ์รูเดอราลิส (Cannabis Ruderalis)

มีต้นกำเนิดในทวีปยุโรป มีลักษณะลำต้นเตี้ยที่สุดใน 3 สายพันธุ์ แต่มีระยะการเติบโตเร็วและสามารถอยู่ได้ทั้งในอากาศร้อนและเย็น  มีระยะเวลาเติบโตพร้อมเก็บเกี่ยวประมาณ 30 วัน จุดเด่นอยู่ที่ใบกว้างเรียวยาวมี 3 แฉก โดยทั่วไปแล้วสายพันธุ์นี้มีสาร THC น้อย (เมื่อเทียบกับสองสายพันธุ์แรก) และมีปริมาณ CBD สูง จึงนิยมนำไปผสมข้ามสายพันธุ์ (Hybrid) กับซาติวาและอินดิกา เพื่อให้ได้คุณสมบัติทางยา

Scroll to top