กล้วยตีบ

กล้วยตีบ

ชื่อสมุนไพร :  กล้วยตีบ
ชื่ออื่นๆ : 
ตีบดำ, อีตีบ, กล้วยตีบน้อย
ชื่อวิทยาศาสตร์  :
 Musa X paradisiaca L. (ABB group) “Tib-Ta-Nod”
ชื่อวงศ์ : Musaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นกล้วยตีบ เป็นลูกผสมระหว่างกล้วยป่ากับกล้วยตานี  ลำต้นเทียมสูง 3-4 เมตร เส้นผ่าศูนย์ กลางประมาณ 20 ซม. สีเขียวไม่มีปื้นดำ กาบลำต้นด้านในสีเขียว ก้านใบสีเขียว ก้านสั้นกว่าก้านใบกล้วยตานีและมักไม่มีร่อง ขยายพันธุ์ด้วยหน่อ พบขึ้นตามป่าธรรมชาติทั่วไป พบมากทางภาคเหนือ ภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  • ใบกล้วยตีบ เป็นใบเดี่ยว ลักษณะคล้ายกล้วยตานี ท้องใบมีสีนวลขาว ใบสั้นและเล็กกว่าใบกล้วยตานี ที่สำคัญ “กล้วยตีบ” จะดูคล้ายต้นกล้วยใกล้จะตาย จะบำรุงอย่างไรก็ไม่ดีขึ้น จะดูเหมือนกับต้นกล้วยโทรมๆ ตลอดเวลา
  • ดอกกล้วยตีบ(ปลี) ก้านช่อดอก หรือเครือเป็นสีเขียว ไม่มี ขน ใบประดับปลีค่อนข้างป้อมสั้น ปลายมน ด้านบนเป็นสีแดงอมม่วง มีนวล ด้านล่างสีแดงเข้มสดใส เมื่อใบประดับกางและจะม้วนงอ
  • ผลกล้วยตีบ เครือหนึ่ง จะมีหวีเพียง 1-2 หวีเท่านั้น แต่ละหวีจะมีผลประมาณ 7-8 ผล ไม่เกิน 10 ผล ผลสุกเป็นสีเหลือง เช่นเดียวกับผลกล้วยตานี แต่เล็กกว่า รสชาติฝาดปนเย็น ผลงอเล็กน้อย ปลายผลมีจุกใหญ่ ผลมีเหลี่ยม 5 เหลี่ยม กินผลสุกเป็นผลไม้ สำหรับกล้วยตีบเหมาะที่จะรับประทานผลสด  เพราะเมื่อนำไปย่าง หรือต้มจะมีรสฝาด   
    กล้วยตีบ

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ราก, ใบ

สรรพคุณ กล้วยตีบ :

  • ราก รสฝาดเย็น แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ท้องร่วง แก้บิด แก้โรคปากเปื่อย แก้ไข้ แก้ปวดตามข้อ และกล้ามเนื้อ แก้อุจจาระเป็นมูกเลือด แก้พิษภายนอก 
  • ใบ มวนยาสูบแก้ริดสีดวงจมูก  ต้มอาบแก้ผื่นคันตามผิวหนัง น้ำที่คั้นจากใบหรือน้ำต้มใบใช้เป็นน้ำกระสายยา

ข้อมูลเพิ่มเติม :

  • กล้วยตีบจัดอยู่ใน “พิกัดตรีอมฤต” ประกอบด้วยตัวยาสามอย่าง ได้แก่ รากกล้วยตีบ รากกระดอม และรากมะกอก ในปริมาณเท่ากัน มีสรรพคุณ แก้ไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ขับปัสสาวะ บำรุงธาตุ ทำให้เจริญอาหาร
  • การใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุการใช้รากกล้วยตีบในตำรับ “ยาเหลืองปิดสมุทร” มีส่วนประกอบของรากกล้วยตีบร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูก หรือมีเลือดปนและท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้
Scroll to top