กฤษณา

กฤษณา

ชื่อสมุนไพร : กฤษณา
ชื่ออื่น ๆ
: ปอห้า (ภาคเหนือ), ไม้หอม (ภาคตะวันออก), ไม้พวงมะพร้าว (ภาคใต้), สีเสียดน้ำ (บุรีรัมย์), ตะเกราน้ำ (จันทบุรี), กายูการู, กายูกาฮู, กายูดึงปู (ปัตตานี, มาเลเซีย) ซควอเซ, ซควอสะ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), ติ่มเฮียง (จีน)
ชื่อสามัญ : Aloe-Wood, Agarwood, Eagle-Wood, Akyaw, Aglia, Lignum-Aloes
ชื่อวิทยาศาสตร์Aquilaria crassna Pierre. ex Lec.
ชื่อวงศ์ : THYMELAEACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นกฤษณา เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 18-30 เมตร วัดขนาดรอบลำต้นได้ความยาวประมาณ 1.5-1.8 เมตร ลำต้นเปลาตรง เปลือกต้นเรียบมีสีเทาอมขาว เปลือกมีความหนาประมาณ 5-10 มิลลิเมตร เมื่ออายุมากๆ เปลือกนอกจะแตกเป็นร่องยาวตื้นๆ ส่วนเปลือกด้านในจะมีสีขาวอมเหลือง ต้นมีรูระบายอากาศสีน้ำตาลอ่อนอยู่ทั่วไป ตามกิ่งอ่อนจะมีขนสีขาวปกคลุมอยู่ เมื่อต้นมีอายุมากๆมักจะมีพูพอนที่โคนต้น
    กฤษณา
  • ใบกฤษณา ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรี มีความกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-11 เซนติเมตร ปลายใบเป็นติ่งแหลม ส่วนโคนใบมน ใบเป็นสีเขียว ขอบใบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนา เรียบและเกลี้ยง มีขนขึ้นประปรายอยู่ตามเส้นใบด้านล่าง ก้านใบยาวประมาณ 0.2-0.7 เซนติเมตร
  • ดอกกฤษณา ออกเป็นช่อตามซอกใบ ดอกมีสีเขียวอมเหลือง กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นหลอดสั้น ปลายแยกเป็น 5 แฉก ติดทน กลีบดอก 5 กลีบ เกสรเพศผู้มี 10 อัน
  • ผลกฤษณา เป็นรูปกลมรี ผลยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร มีเส้นแคบตามยาวของผล ผิวของผลมีลักษณะขรุขระเป็นลายสีเขียว และมีขนละเอียดสั้นๆ คล้ายกำมะหยี่ขึ้น ผลเมื่อแก่จะแตกและอ้าออก ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด มีสีน้ำตาลเข้ม ลักษณะกลมรี ขนาดประมาณ 5-6 มิลลิเมตร มีหางเมล็ดสีส้ม หรือ สีแดง ปกคลุมไปด้วยขนสั้นนิ่มสีแดงอมน้ำตาล

ส่วนที่ใช้เป็นยา :  เนื้อไม้,  แก่น,  และชัน

สรรพคุณ กฤษณา :

  • เนื้อไม้ รสขม หอม เป็นยาบำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงตับและปอดให้เป็นปกติ แก้ลม แก้ลมซาง แก้ลมอ่อนเพลีย ทำให้ชุ่มชื่นใจ บำรุงกำลัง แก้ไข้ บำรุงโลหิต รักษาโรคปวดข้อ
  • แก่นไม้ บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงตับ และปอดให้ปกติ
  • น้ำมันจากเมล็ด รักษาโรคผิวหนัง แก้โรคเรื้อน แก้มะเร็ง
  • ไม่ระบุส่วนที่ใช้ บำรุงโลหิต แก้ตับปอดพิการ แก้ไข้เบื่อ ขับเสมหะ บำรุง โลหิตในหัวใจ ทำตับปอดให้เป็นปกติ คุมธาตุ

ข้อมูลเพิ่มเติม :

  • ในตำราพระโอสถพระนารายณ์: มีการนำแก่นไม้กฤษณาไปใช้หลายตำรับ โดยเป็นตัวยาผสมกับสมนุไพรชนิดอื่นๆ อีกหลายชนิดในตำรับเพื่อรักษาอาการของโรคต่างๆ เช่น ตำรับยาขี้ผึ้งบี้พระเส้น หรือยาถูนวดเส้น ตำรับยาน้ำมันมหาวิศครรภราชไตล ทำให้โลหิตไหลเวียนดี และเป็นยาคลายเส้น ตำรับยาทรงทาพระนลาฎ ใช้ทาหน้าผากแก้เลือดกำเดาที่ทำให้ปวดศีรษะ ยามโหสถธิจันทน์ เป็นยาแก้ไข้ตัวร้อน และยังปรากฏเป็นส่วนประกอบในตำรับยาหอมเทพจิตร ซึ่งมีสมุนไพรชนิดอื่นๆร่วมอยู่ด้วยในตำรับ ตามบัญชียาจากสมุนไพร พ.ศ. 2549 ประกาศคณะกรรมการแห่งชาติด้านยาของไทย
               ในแหลมมลายู: ใช้กฤษณาเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางและใช้บำบัดโรคผิวหนังหลายชนิด  ผงกฤษณาใช้โรยบนเสื้อผ้าหรือบนร่างกายเพื่อฆ่าหมัดและเหา
               ในประเทศมาเลเซีย: นำเอากฤษณาผสมกับน้ำมันมะพร้าว นำมาทาบรรเทาอาการปวดเมื่อย หรือบรรเทาอาการของโรครูมาติซัม
               ยาพื้นบ้านของอินเดียและหลายประเทศในเอเชีย: ใช้กฤษณาเป็นส่วนผสมในยาหอม ยาบำรุง ยากระตุ้นหัวใจ และ ยาขับลม นอกจากนี้ยังใช้เป็นยาแก้ปวด  แก้อัมพาตและเป็นตัวยา รักษาโรคมาลาเรีย
               ชาวอาหรับ: ใช้ผงไม้กฤษณาโรยเสื้อผ้า ผิวหนัง ป้องกันตัวเรือด ตัวไร และมีความเชื่อว่าน้ำมันหอมระเหยของกฤษณาเป็นยากระตุ้นทางเพศ
               ชาวฮินดูนิยม: นำมาใช้จุดไฟ ให้มีกลิ่นหอมในโบสถ์
               ประเทศจีน: ใช้แก้ปวดหน้าอก แก้อาเจียน แก้ไอ แก้หอบหืด

ไม้กฤษณา จะมีทั้งแบบเนื้อไม้ปกติและแบบเนื้อไม้หอมที่มีน้ำมันกฤษณา โดยเนื้อไม้ปกติจะมีสีขาวนวลเมื่อตัดใหม่ๆ และต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน เนื้อไม้เป็นเสี้ยนตรง หยาบปานกลาง เลื่อยได้ง่าย ขัดเงาได้ไม่ดี ไม่ค่อยทนทานนัก เมื่อนำมาแปรรูปเสร็จก็ควรรีบกองผึ่งให้แห้งโดยเร็ว ส่วนเนื้อไม้หอมที่มีน้ำมันจะมีสีดำ หนัก และจมน้ำได้ ซึ่งคุณภาพของเนื้อไม้ชนิดนี้จะขึ้นอยู่กับปริมาณของน้ำมันภายในเซลล์ต่างๆ ของเนื้อไม้ นอกจากนี้คุณภาพของไม้กฤษณายังที่มีน้ำมันสามารถแบ่งออกเป็น 4 เกรด ได้แก่

  • เกรด 1 หรือ ที่เรียกว่า “ไม้ลูกแก่น” ส่วนต่างประเทศจะเรียกว่า “True agaru” เกรดนี้จะมีน้ำมันสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก กระจายอยู่ทั่วเนื้อไม้ ทำให้เนื้อไม้มีสีดำ มีน้ำหนักเป็น 1.01 เท่าของน้ำ หรือ หนักกว่าจึงทำให้จมน้ำได้ มีกลิ่นหอมคล้ายกับกลิ่นจันทน์หิมาลัยและอำพันขี้ปลา เมื่อนำมาเผาไฟจะให้เปลวไฟโชติช่วงและมีกลิ่นหอม (ราคา 15,000-20,000 บาท/กิโลกรัม)
  • เกรด 2 เกรดนี้จะมีน้ำมัน และกลิ่นหอมรองลงมา โดยเนื้อไม้สีจะจางออกทางน้ำตาล ต่างประเทศจะเรียกว่า “Dhum”โดยสีเนื้อไม้จะจางออกน้ำตาล และมีน้ำหนักเบากว่าน้ำ มีกลิ่นหอมเหมือนน้ำมันดอกยี่สุ่น ซึ่งเมื่อนำมากลั้นจะได้น้ำมันหอมระเหยที่เรียกว่า agarattar
  • เกรด 3 มีน้ำมันและกลิ่นหอมรองลงมา มีน้ำหนักเบากว่าน้ำ หรือ มีน้ำหนักเป็น 0.62 เท่าของน้ำ จึงทำให้ลอยน้ำ
  • เกรด 4 เกรดนี้จะมีกลิ่นหอมและน้ำมันสะสมอยู่น้อย มีน้ำหนักเป็น 0.39 เท่าของน้ำ จึงทำให้ลอยน้ำ

  • ไม้กฤษณา นำไปใช้ผสมเข้าเครื่องหอมทุกชนิด เช่น น้ำอบไทย น้ำมันหอมระเหย ธูปหอม ยาหอม ชาวอาหรับ นิยมใช้ไม้หอมของต้นกฤษณามาเผาไฟเพื่อใช้อบห้องให้มีกลิ่นหอม ส่วนชาวฮินดูจะนิยมนำมาใช้จุดไฟ เพื่อให้กลิ่นหอมในโบสถ์ ส่วนประโยชน์ของไม้กฤษณาทั่วไปที่มีมีน้ำมัน สามารถนำมาใช้ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ ใช้ในงานก่อสร้างต่างๆ เปลือกต้น นำมาใช้ทำเป็นเชือก กระดาษ เสื้อผ้า ย่าม ใช้สานหมวก ถุง และที่นอน เปลือกใช้ทำเป็นยากันยุงได้ ทำเป็นเครื่องจักสาน ใช่ทอผ้า และเชือกป่าน
Scroll to top