กะทือ

กระทือ

ชื่ออื่น ๆ : กระทือ, กระทือป่า, แฮวดำ, กะแวน (ภาคเหนือ), เฮียงแดง (แม่อ่องสอน), กะทือ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Zingiber zerumbet Rose. Smith.
ชื่อวงศ์ ZINGIBERACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นกระทือ ไม้ล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นเทียมสูงได้ถึง 1 เมตร มีเหง้าใต้ดิน แตกแขนงเป็นกอ เปลือกเหง้าสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในสีเหลืองอ่อน กลิ่นหอม จะแทงหน่อใหม่ช่วงฤดูฝน

    กะทือ

  • ใบกระทือ ใบเดี่ยว เรียงสลับในระนาบเดียวกัน รูปใบหอก กว้าง 3-10 เซนติเมตร ยาว 14-40 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบ หลังใบสีเขียวเป็นมัน ท้องใบสีเขียวนวล ก้านใบสั้นมาก ยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร กาบใบเรียงตัวกันแน่น หุ้มเป็นลำต้นเทียม ดอกช่อ แบบช่อเชิงลด ก้านช่อดอกยาว 14-45 เซนติเมตร ตั้งตรง แทงออกมาจากเหง้าใต้ดิน ดอกทรงกระบอก กว้าง 4-5 เซนติเมตร ยาว 6-12 เซนติเมตร ปลายมน ใบประดับสีเขียวแล้วเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม มี 10-25 ใบ เรียงซ้อนกันแน่นเป็นระเบียบ รูปไข่กลับกว้างหรือเกือบกลม กว้าง 3.0-3.2 เซนติเมตร ยาว 2.0-2.3 เซนติเมตร ปลายมน ขอบพับเข้าด้านใน
  • ดอกกระทือ บานสีขาวอมเหลืองโผล่ออกมาจากซอกใบประดับ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 3 แฉก กลีบบนรูปไข่กว้าง 0.9 เซนติเมตร ยาว 1.7 เซนติเมตร ปลายแหลม ผิวเกลี้ยง กลีบข้างรูปหอก กว้าง 0.5 เซนติเมตร ยาว 1.8 เซนติเมตร ปลายเรียวแหลม ผิวเกลี้ยง ดอกบานไม่พร้อมกัน กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอด กว้าง 0.1-0.35 เซนติเมตร ยาว 1.6-1.7 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 3 แฉก ผิวเกลี้ยง สีขาว เกสรเพศผู้ 1 อัน อับเรณูขนาดใหญ่ โค้ง มีรยางค์ที่ปลาย กว้าง 0.4 เซนติเมตร ยาว 1 เซนติเมตร ก้านชูอับเรณูสั้นมากยาว 0.1 เซนติเมตร เกสรเพศผู้เป็นหมันด้านข้าง 2 อัน สีเหลืองอ่อน เกสรเพศผู้เป็นหมันอันกลาง สีเหลืองอ่อน ตรงโคนมีแต้มสีเหลืองเข้ม เกสรเพศเมีย รังไข่รูปวงรี กว้าง 0.3 เซนติเมตร ยาว 0.4 เซนติเมตร ผิวเกลี้ยง มี 3 ช่อง พลาเซนตารอบแกนร่วม ก้านชูเกสรเพศเมียยาว 2.5 เซนติเมตร ยอดเกสรเพศเมียรูปกรวยหรือเกือบกลม
  • ผลกระทือ แบบผลแห้งแตก รูปไข่กลับ ขนาดเล็ก ผิวเรียบ สีแดง ยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร เมล็ดรูปขอบขนาน ค่อนข้างกลม มีเยื่อหุ้มเมล็ดเป็นริ้วสีขาว เมล็ดสีดำเป็นมัน

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ลำต้น, ดอก, ใบ, เหง้า

สรรพคุณ กระทือ :

  • ราก รสขมขื่นเล็กน้อย แก้ไข้ตัวเย็น แก้ไข้ตัวร้อน แก้ไข้ต่างๆ แก้เคล็ด ขัด ยอก
  • เหง้าหรือลำต้นใต้ดิน รสขมขื่นปร่า แก้แน่นหน้าอก แก้ปวดมวนในท้อง บำรุงน้ำนมให้สมบูรณ์ เป็นยาขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดท้อง บำรุงธาตุ ขับปัสสาวะ แก้จุกเสียด แก้เสมหะเป็นพิษ ขับน้ำย่อย เจริญอาหาร แก้บิด ปวดเบ่ง เป็นยาบำรุงกำลัง แก้ฝี ผสมในตำรับยากับสมุนไพรตัวอื่น แก้ไข้ตัวเย็น แก้กระษัย เป็นยาระบาย
  • ต้น รสขมขื่น เป็นยาแก้เบื่ออาหาร ช่วยให้เจริญอาหาร ทำให้รับประทานอาหารมีรส แก้ไข้
  • ใบ รสขมขื่นเล็กน้อย ต้มเอาน้ำดื่มเป็นยาขับเลือดเน่าในมดลูก (เลือดเน่าร้ายในเรือนไฟ) ขับน้ำคาวปลา แก้ปัสสาวะเป็นโลหิต ใช้ผสมในตำรับยาร่วมกับสมุนไพรอื่นแก้ไข้ป่า อีสุกอีใส เป็นยาประคบเส้นฟกบวม ถอนพิษไข้ กระทุ้งพิษไข้ แก้ไข้อีดำอีแดง แก้หัด แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ไข้เปลี่ยนฤดู แก้ไข้เซื่องซึมผิดสำแดง
  • ดอก รสขมขื่น แก้ไข้เรื้อรัง แก้ผอมแห้ง แก้ไข้ตัวเย็น แก้ไข้จับสั่น ผอมเหลือง บำรุงธาตุ แก้ลม
  • เกสร รสเฝื่อนปร่า บำรุงธาตุ แก้ลม

Scroll to top