กรดน้ำ

กรดน้ำ

ชื่อสมุนไพร :          กรดน้ำ
ชื่ออื่น ๆ :               
หนวดแมว, ขัดมอนเล็ก (ภาคกลาง), กัญชาป่า, กระต่ายจามใหญ่, มะไฟเดือนห้า (กรุงเทพฯ), หญ้าหัวแมงฮุน, หญ้าจาดตู้ด (ภาคเหนือ), ช้างไลดุ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), หญ้าพ่ำสามวัน (ฉาน-แม่ฮ่องสอน), เทียนนา (จันทบุรี), ตานซาน (ปัตตานี), หูปลาช่อนตัวผู้ (ตราด), ขัดมอนเทศ (ตรัง), แหย่กานฉ่าน (จีนกลาง), เอี่ยกำเช่า (แต้จิ๋ว)
ชื่อสามัญ :             
Sweet Broomweed, Macao tea
ชื่อวิทยาศาสตร์ :   
Scoparia dulcis Linn.
ชื่อวงศ์:                 
SCROPHULARIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นกรดน้ำ เป็นพรรณไม้ล้มลุกอายุ 2 ปี ลำต้นตั้งตรง มีความสูงได้ประมาณ 30-80 เซนติเมตร เป็นพุ่ม แตกกิ่งแผ่สาขามาก ลำต้นมีลักษณะเป็นเหลี่ยมไม่มีขน กิ่งเล็กเรียว
    กรดน้ำ
    กรดน้ำ
  • ใบกรดน้ำ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามหรือเป็นวงรอบข้อ ข้อละ 3-4 ใบ แผ่นใบมีขนาดเล็กเป็นสีเขียว ลักษณะของใบเป็นรูปรูปรีเรียว รูปใบหอกแกมรูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปสีเหลี่ยมข้าวหลามตัด ปลายใบแหลม โคนใบเรียวสอบ ส่วนขอบใบจักเป็นฟันเลื่อยตรงส่วนใกล้โคนใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-15 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5-35 มิลลิเมตร ท้องใบมีต่อม ก้านใบสั้นมากหรือแทบไม่มี
    กรดน้ำ
    กรดน้ำ
  • ดอกกรดน้ำ ดอกมีขนาดเล็กสีขาว ออกดอกเดี่ยวๆ ที่ง่ามใบ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีวงละ 4 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน ปลายแยกออกเป็น 2 ปาก กลีบดอกเป็นสีขาว ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียว ดอกมีเกสรเพศผู้ 4 อัน และมีเกสรเพศเมีย 1 อัน ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-5 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ในต้นหนึ่งจะมีดอกมาก
    กรดน้ำ
    กรดน้ำ
  • ผลกรดน้ำ เมื่อแห้งจะแตกออก ผลมีลักษณะค่อนข้างกลมหรือเป็นรูปไข่ มีขนาดประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ, ลำต้น, ราก, ผล

สรรพคุณ กรดน้ำ :

  • ใบ รสฝาด ใช้ขับระดูขาว แก้ไอ ลดไข้ บำรุงธาตุ แก้ปวดฟัน แก้หลอดลมอักเสบ
  • ลำต้น รสฝาด ลดอาการเป็นหวัด เจ็บคอ จุกเสียด อาเจียน แก้ไอ ลดไข้ ท้องเดิน ท้องเสีย ปวดท้อง ลำไส้อักเสบ แก้ผื่นคัน แก้ขัดเบา แก้ขาบวมจากการเป็นเหน็บชา ลดอาการบวมน้ำจากปัสสาวะ
  • ราก รสฝาด ขับพยาธิ ขับปัสสาวะ ลดไข้ แก้ปวดศีรษะ แก้เบาหวาน แก้ผื่นคัน สมานลำไส้ แก้ท้องร่วง แก้บิด จุกเสียด
  • ผล มีรสฝาดเมา ใช้ขับพยาธิไส้เดือน

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : 

  1. วุฒิ วุฒิธรรมเวช. 2540. สารานุกรมสมุนไพร. โอเดียนสโตร์: กรุงเทพมหานคร.
  2. วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. 2539. พจนานุกรม สมุนไพรไทย. พิมพ์ครั้งที่ 4 .ประชุมทองการพิมพ์: กรุงเทพมหานคร.
  3. นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. 2547. สมุนไพรไทย เล่ม 1. ฐานการพิมพ์ จำกัด: กรุงเทพมหานคร.

ภาพประกอบ

  • ชัยยุทธ  บุญฑริกรัตน์. (2012). กรดน้ำ. [ภาพ]. สืบค้นจาก www.samunpri.com
Scroll to top